- พนักงานสอบสวนคือผู้ที่มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการต่างๆ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา(จากการร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ) เพื่อจะทราบข้อเท็จจริง หรือพิสูจน์ความผิด และเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ (สอบสวนเสร็จ สรุปความเห็นให้พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป)
- พนักงานสอบสวนหลักตามกฎหมายคือ พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธี-พิจารณาความอาญา ในเขตกรุงเทพมหานครคือข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มียศร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่าขึ้นไป พื้นที่อื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร คือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ (ข้าราชการตำรวจมียศร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป ข้าราชการอื่นระดับ ๓ ขึ้นไป) ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสอบสวนคดีอาญา ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน เมื่อความผิดเกิด อ้าง หรือเชื่อว่าเกิดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ หรือกรณีความผิดเกิดหลายท้องที่เกี่ยวพันกันหรือกรณีไม่แน่ชัดว่าเกิดในท้องที่ใดหลายท้องที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘,๑๙,๒๑
โดยสรุปแล้วพนักงานสอบสวนหลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มี ๓ ประเภท คือ
(๑) พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในเขตนครบาล ซึ่งสังกัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) , พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธร ซึ่งสังกัดกองบัญชาการการตำรวจภูธรภาค
๑-๙ และ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (บช.ภ.๑-๙ และ ศชต.) และพนักงานสอบสวนอื่นในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ พนักงานสอบสวนกองปราบปราม พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตรวจคนเข้าเมือง พนักงานสอบสวนกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด พนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว พนักงานสอบสวนกองบังคับการคดีเศรษฐกิจ พนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจรถไฟ และพนักงานสอบสวนในสังกัดกองบังคับการ
สืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล,กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑-๙ และศูนย์ปฏิบัติการ
ตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
(๒) พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ตำแหน่งปลัดอำเภอขึ้นไป และตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย คดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทมหานคร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน โดยมีพนักงานสอบสวนทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายตำรวจร่วมทำการสอบสวน และสำหรับคดี ๑๐ ประเภทดังนี้ให้มีเฉพาะพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง คือ (๑)กฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร (๒)กฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน (๓)กฎหมายว่าด้วย ภาษีบำรุงท้องที่ (๔)กฎหมายว่าด้วยภาษีป้าย (๕)กฎหมายว่าด้วยโรงเรือนและที่ดิน (๖)กฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ (๗)กฎหมายว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง (๘)กฎหมายว่าด้วยการควบคุมสุสานและฌาปนสถาน (๙)กฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข (๑๐)กฎหมายว่าด้วยการประถมศึกษา(มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วปัจจุบัน โดย กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.2554)
(๓) พนักงานสอบสวนอื่นๆ ที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีอำนาจจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดอาญา เช่น พัศดี ,เจ้าพนักงานกรมศุลกากร , กรมสรรพสามิต , กรมเจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานอื่น
แต่อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันมีกฎหมายใหม่หลายฉบับที่ออกมาให้มีพนักงานสอบสวนตามกฎหมายนั้นๆ ที่มีอำนาจสอบสวนคดีบางประเภทเป็นการเอกเทศจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือร่วมทำการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนฯ ได้แก่
(๑) พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ - DSI กระทรวงยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งมีอำนาจสอบสวนในคดีตาม มาตรา ๒๑
(๒) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในคดีล้มละลาย มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาเกี่ยวกับคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๖๐ วรรค ๑
(๓) อนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ และประธานกรรมการ ป.ป.ช.เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน
(๔) พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓,๒๙ วรรค ๑ ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษและมีอำนาจสืบสวนสอบสวน
(๕) พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี (พม.)เป็นพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓
(๖) อัยการสูงสุด หรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้รับมอบอำนาจสอบสวนความผิดอาญาที่เกิดนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐
(๗) พนักงานอัยการ มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ตาม พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๗
(๘) เลขาธิการ มีอำนาจสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสอบสวน หรือมีอำนาจสอบสวนเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๓๘
(๙) พนักงานอัยการ มีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำพยาน และดำเนินการอื่นเพื่อประโยชน์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.๒๕๕๑
(๑๐)เลขาธิการ ป.ป.ส.ตาม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.๒๕๑๙
(๑๑) เจ้าหน้าที่ทหารเรือ ตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำผิดบางอย่างทางทะเล พ.ศ.๒๕๓๔